เอนก เหล่าธรรมทัศน์
หนังสือเล่มล่าสุดของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ที่ชื่อว่า "พิศการเมือง" ซึ่งจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ openbooks ได้รับการชื่นชมจากคอลัมนิสต์หลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น สุวพงศ์ จั่นฝังเพ็ชร ที่เขียน "พิศเอนก" ในคอลัมน์ร่มรื่นในเงาคิด ของมติชนสุดสัปดาห์ หรือแม้แต่บทความชื่นชมในเนชั่นสุดสัปดาห์เช่นกัน
รูปจากหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ
คงจะไม่ใช่เหตุบังเอิญที่ แม้คนเขียนจะอยู่ในฐานะผู้พ่ายแพ้ทางการเมือง ไม่ว่าจากการนำพรรคมหาชนประสบกับความปราชัยในการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อต้นปี 2548 โดยได้รับเลือกตั้งเพียง 2 ที่นั่ง จากที่เคยเก็งกันว่าจะได้รับเลือกตั้งไม่ต่ำกว่า 20 ที่นั่ง จนกระทั่งนำไปสู่การลาออกจากตำแหน่งหัวหน้าพรรคมหาชนในเวลาต่อมา
แต่ไม่ได้หมายความว่าคุณค่าของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ จะหมดไปพร้อมกับความพ่ายแพ้ในครั้งนั้น
ตรงกันข้ามนี่น่าจะเป็นก้าวย่างที่สำคัญของเขาต่อความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองที่สำคัญของสังคมไทย
"พิศการเมือง" ให้ภาพสรุปการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองนับเนื่องจาก การเปลี่ยนแปลงภายในพรรคประชาธิปัตย์ซึ่งเป็นพรรคการเมืองเริ่มแรกของเอนก เหล่าธรรมทัศน์ ในฐานะสส บัญชีรายชื่อ และตำแหน่งรองหัวหน้าพรรค จนกระทั่งก้าวเข้ามาเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง และกระทั่งสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรคมหาชน
เอนก เหล่าธรรมทัศน์ มักจะเน้นย้ำความคิดของเขาเสมอว่า ลำพังเพียงอุดมการณ์หรือนโยบายที่ดี แต่ไม่สามารถนำไปสู่การปฏิบัติ โดยผ่านกระบวนการของพรรคการเมืองได้ ก็ไร้ซึ่งประโยชน์ นี่จึงเป็นเหตุที่ทำให้เขาเข้าใจถึงข้อจำกัดและดุลยภาพระหว่างอุดมการณ์กับโลกของความเป็นจริง ซึ่งหนังสือเล่มนี้ก็ฉายภาพให้เห็นอย่างชัดแจ้งโดยเฉพาะเรื่องของความจำเป็นและความเกี่ยวข้องกันระหว่าง เงินทุน , ระบบอุปถัมป์, นักการเมือง และความสัมพันธ์กับกลุ่มทุน
แนวคิดและนโยบายของคุณเอนก มีหลายประการที่น่าสนใจ ตัวอย่างเช่น นโยบายสมุทรศาสตร์ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์การเชื่อมโยงระหว่างอินเดียทางฝั่งมหาสมุทรอินเดีย และจีนทางฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิค รวมไปถึงการนำเสนอแนวทางสวัสดิการก้าวหน้าแทนที่นโยบายประชานิยมที่พรรคไทยรักไทยนำเอามาใช้หาเสียงอย่างได้ผลจนกระทั่งพรรคการเมืองอื่นๆต้องนำไปเลียนแบบ หรือแม้แต่การให้ความสำคัญกับการกระจายอำนาจลงไปสู่ท้องถิ่นและการให้ความสำคัญกับประชาสังคม
คุณเอนกมีความเข้าใจ ในเรื่องของสภาพสังคมและการเมืองไทยอย่างลึกซึ้ง เนื่องจากเคยทำงานวิจัยจนได้ออกมาเป็นงานเขียนทางวิชาการเรื่องสองนคราประชาธิปไตย ซึ่งกล่าวถึงธรรมชาติของประชาชนในสังคมไทยที่แบ่งเป็นสองกลุ่มคือกลุ่มคนในเมือง และกลุ่มคนในชนบท โดยที่กลุ่มคนในชนบทจะเป็นกลุ่มคนที่ด้อยโอกาสกว่า ดังนั้นจึงมักจะสนับสนุนรัฐบาลที่มีแนวโน้มใช้ระบบอุปถัมป์ (โดยผ่านทางนักการเมือง)กับคนเหล่านี้ ซึ่งด้วยเหตุที่คนกลุ่มนี้เป็นคนกลุ่มใหญ่ จึงเป็นฐานคะแนนเสียงที่สำคัญของพรรคการเมืองและนำไปสู่การจัดตั้งรัฐบาล แต่คนในเมืองก็มักจะมีความไม่พอใจกับรัฐบาลเพราะรัฐบาลมักจะออกนโยบายที่เอาใจคนในชนบท (และมีแนวโน้มที่จะคอรัปชั่น) และมักจะเป็นกลุ่มที่ออกมาล้มรัฐบาล
แม้ว่ารัฐบาลชุดปัจจุบันจะถูกจัดตั้งด้วยคะแนนเสียงจากทั้งคนในชนบทและในเมืองอย่างท่วมท้น จนดูเหมือนว่า ทฤษฎีนี้จะไม่สามารถนำมาใช้วิเคราะห์ได้ แต่ปัจจุบันการที่รัฐบาลทักษิณสมัยที่สองต้องพ่ายแพ้ให้กับการเลือกตั้งในสามจากสี่เขต และกระแสความไม่พอใจของคนในเมืองเริ่มก่อตัวขึ้น ก็กำลังเป็นบทพิสูจน์ในทฤษฎีนี้อีกครั้ง
=====
ผู้เขียนเคยวิเคราะห์การเมืองไทย โดยจำลองรูปแบบมาจากยุคสมัยสามก๊กในเมืองจีน ก็เห็นว่า
คุณทักษิณนั้นเปรียบเทียบได้กับโจโฉ เพราะครองอำนาจเสียงส่วนใหญ่ได้เด็ดขาด และมีลักษณะรวบอำนาจและเด็ดขาดคล้ายๆกัน เหมือนกับที่โจโฉสามารถครองดินแดนทางเหนือ (หลังสงครามอ้วนเสี้ยว) ได้เด็ดขาด
ในขณะที่คุณอภิสิทธิ์เปรียบเทียบได้กับซุนกวน ซึ่งก็ของเสียงส่วนใหญ่ในภาคใต้เหมือนๆันกัน และสืบทอดอำนาจต่อจากซุนเกี๋ยนผู้บิดา และซุนเซ็กผู้พี่ ซึ่งก็เปรียบเสมือนกับการสืบทอดจากคนชวน และคุณบัญญัติซึ่งเข้ามาทำหน้าที่เพียงชั่วคราว
ในขณะที่ที่โจโฉเคลื่อนทัพลงใต้และยึดได้เกงจิ๋ว จนกระทั่งกำลังเตรียมพลเข้าตีกังตั๋งนั้น เล่าปี่ผู้ซึ่งต่อไปในอนาคตจะได้เป็นหนึ่งในผู้นำของสามก๊ก ยังเป็นเพียงขุนพลไร้กำลัง ไร้ดินแดน ต้องระหกระเหิน เร่ร่อนเอาตัวรอดไปวันๆ ครั้งสุดท้ายก็ถูกโจมตีจากทัพวุ่ยของโจโฉจนกระทั่งต้องสูญเสียภริยาคนหนึ่ง จนต้องลี้ภัยไปอยู่ที่กังแฮซึ่งเป็นเมืองของเล่ากี๋ผู้เป็นลูกของเล่าเปียว
แต่การณ์ก็เปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งใหญ่จากมันสมองของกุนซืออัจฉริยะนามขงเบ้ง ที่ฉวยโอกาสระหว่างการศึกระหว่างวุ่ย (โจโฉ) และง่อ (ซุ่นกวน) แนะนำให้เล่าปี่ยึดเกงจิ๋วและขยายอำนาจไปยังเสฉวน ก่อให้เกิดดุลย์อำนาจระหว่างสามมหาอำนาจคือ วุ่ย ง่อ และจ๊ก บังเกิดขึ้นเป็นสามก๊กในที่สุด
ในความเห็นของผู้เขียน สถานการณ์ทางการเมืองของคุณเอนก คล้ายคลึงกับเล่าปี่อย่างยิ่ง อีกทั้งเสน่ห์ (charm) เฉพาะตัวของคุณเอนกก็สามารถดึงดูดคนที่มีความสามารถให้เข้ามาร่วมอุดมการณ์ได้ ทั้งที่ปราศจากอำนาจทางการเงินและการเมือง ไม่แตกต่างจากเล่าปี่แม้แต่น้อย
แต่สถานการณ์ของคุณเอนก จะสามารถเปลี่ยนแปลงแผ่นดินดังที่เล่าปี่ทำได้ในสมัยสามก๊กหรือไม่นั้น เป็นเรื่องที่น่าสงสัย เพราะนอกจากจะยังไม่เห็นวี่แววของนักยุทธศาสตร์ระดับเดียวกับขงเบ้งแล้ว การทำศึกการเมืองในปัจจุบัน ก็ยังต้องอาศัยกระสุนทุนและนักเลือกตั้งจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นข้อเท็จจริงที่คุณเอนกเองก็ได้เขียนลงไปในหนังสือ "พิศการเมือง" นั่นเอง
แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีทาง เพราะเมื่อดูแนวโน้มของการเมืองปัจจุบันก็จะเห็นว่าคะแนนเสียงของไทยรักไทยก็เริ่มลดน้อยลง ซึ่งครั้งนี้ลดลงมากกว่าครั้งสมัยที่คุณเอนกก่อตั้งพรรคมหาชนมากนัก ถึงกับก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในระดับหนึ่ง และเอาเข้าจริงคนก็ยังมองว่าประชาธิปัตย์ปัจจุบันก็ยังไม่ใช่ตัวเลือกที่น่าสนใจอยู่ดี
Hint ที่น่าสนใจสำหรับการ "แบ่งแผ่นดินออกเป็นสาม" สำหรับคุณเอนก น่าจะอยู่ที่ การผสมผสานข้อดีของการทำงานที่ผ่านมาของไทยรักไทย (เช่นการวางยุทธศาสตร์ของประเทศ) และการผสมผสานบทบาทของท้องถิ่นและประชาสังคมเพื่ออุดช่องว่างของระบบตลาด ซึ่งก็เป็นเรื่องที่คุณเอนกมีความรู้อยู่แล้ว
เรื่องที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งคือ การมีบทบาทเพิ่มมากขึ้นของ "งานปัจเจกชน" เช่นสื่อสมัยใหม่ ซอฟต์แวร์สมัยใหม่ ซึ่งอาศัยประชาสังคมแบบออนไลน์ เรื่องแบบนี้กำลังสั่นคลอนอำนาจของกลุ่มทุนสมัยเก่ามากขึ้นทุกที
รวมไปถึงคนรุ่นใหม่ซึ่งมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเทคโนโลยีและประชาสังคมออนไลน์แบบนี้ ต่างก็รู้ทันทั้ง "ทักษิณ" และ "สนธิ" ทั้งนั้น หมายความว่า ไม่ถูกชักจูงได้ง่าย ซึ่งก็คือเป็นคนระดับคุณภาพและน่าจะเป็นกำลังสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศชาติต่อไปได้ในอนาคต
คุณเอนกจะสามารถผสมผสานเรื่องราวเหล่านี้ และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับประเทศ เพื่อนำพาไปสู่ทางเลือกที่สามอย่างที่ตั้งใจไว้ได้หรือไม่
จะเป็นจริงแค่ไหนขึ้นอยู่กับใจของคนที่ชื่อ เอนก เหล่าธรรมทัศน์เอง!